5 โรคฮิตช่วงหน้าหนาว พร้อมวิธีดูแลสุขภาพให้ห่างจากโรค

หน้าหนาวเข้ามาแล้ว กลางคืนอากาศเย็นๆหนาวๆ แต่ตอนกลางวันยังแดดจ้าร้อนเหมือนเดิม ด้วยความที่อากาศเปลี่ยนแปลงแบบนี้ จึงทำให้หลายๆคนป่วยง่ายไปด้วย นอกจากนี้สภาพอากาศที่เย็นยังทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่าย เพราะฉะนั้นหน้าหนาวก็เป็นอีกหนึ่งฤดูที่เราต้องดูแลตัวเองให้ดีเพื่อให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะ 5 โรคฮิตช่วงหน้าหนาวเหล่านี้

1. โรคไข้หวัด

บทความ : ไข้หวัดใหญ่ โรคร้ายประจำฤดูฝนและหนาว | Thai PBS Podcast

ภาพจาก https://www.thaipbspodcast.com

โรคไข้หวัดสามารถพบได้ทุกฤดู แต่ในช่วงฤดูหนาวคนมักจะเป็นโรคนี้กันง่ายขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โรคไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดแต่ละครั้งมักเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดเพียงชนิดเดียว และเมื่อหายแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้น และเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดครั้งใหม่ก็มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่อาจป่วยเป็นไข้หวัด 2 – 3 ครั้งต่อปี ในขณะที่เด็กอาจป่วยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี

อาการ

คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม เจ็บคอเล็กน้อย ไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย

การดูแลตัวเอง

  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  • ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร

ภาพจาก https://www.tqm.co.th

โรคไข้หวัดใหญ่อาการโดยทั่วไปจะคล้ายกับโรคไข้หวัด แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่า หากปล่อยไว้ไม่ดูแลตัวเองให้ดีจนเกิดอาการแทรกซ้อนจะอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ กลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซี มีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด

อาการ

ไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย

การดูแลตัวเอง

  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันเป็นประจำทุกปี
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. โรคปอดบวม

โรคปอดบวม - Good Health Data

ภาพจาก https://www.goodhealthdata.com

โรคปอดบวมเป็นภาวะติดเชื้อในปอด ซึ่งอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดและทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งเชื้อที่พบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค

อาการ

เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจหรือไอ ไอมีเสมหะ อ่อนเพลีย มีไข้ เหงื่อออกมาก หนาวสั่น หายใจหอบถี่ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย

การดูแลตัวเอง

  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ หรือควันจากท่อไอเสียรถยนต์
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  • หมั่นล้างมือเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ตัวเองอบอุ่นอยู่เสมอ
  • เมื่อเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หาย
  • สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

4. โรคอุจจาระร่วงในเด็ก

ท้องเสีย ดูแลอย่างไร | รพ.เด็กสินแพทย์

ภาพจาก https://www.synphaet.co.th

สาเหตุของโรคอุจจาระร่วงมาจากเชื้อไวรัสโรตา โดยพบได้มากสุดในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีภูมิต้านทานต่ำ และเป็นวัยที่ชอบเอาของเข้าปาก ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรือมือที่เปื้อนเชื้อไวรัส โรคนี้อันตรายถึงชีวิตได้หากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง การรักษาที่ดีที่สุดของโรคนี้จึงเป็นการให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอและให้ทันเวลา

อาการ

ถ่ายเหลวเป็นน้ำบ่อยครั้ง มีไข้ อาเจียน อาจมีน้ำมูกไหล ไอ คอแดง ร่วมด้วย

การดูแลตัวเอง

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
  • ให้ลูกกินนมแม่ เพราะจะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี
  • ให้ลูกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำสะอาด
  • ดูแลของเล่น เครื่องใช้ต่างๆให้สะอาดอยู่เสมอ

5. โรคหัด

โรคหัด: อาการ ภาวะแทรกซ้อน วิธีป้องกัน บรรเทาอาการ

ภาพจาก https://hdmall.co.th

โรคหัดเป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจากระบบทางเดินหายใจ สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว และคนที่เป็นโรคหัด 1 คน สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังคนอื่นได้ถึง 15 คน โรคหัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เป็นอันตรายอาจส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้

อาการ

มีน้ำมูก ไอแห้ง ไข้สูง ตาแดง พบจุดสีเทาขาวบริเวณกระพุ้งแก้มตรงข้ามกับฟันกรามซี่ใน โดยจะขึ้นในช่วง 2-3 วัน ที่เป็นโรค หลังจากนั้นจะหายไป มีผื่นเป็นปื้นสีแดงบริเวณไรผม มาที่หน้า ลำตัว แขน ขา และเท้า

การดูแลตัวเอง

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำให้เพียงพอ