10 อาการผิดปกติของลูก เช็คด่วน ลูกคุณเป็นหรือไม่

อาการผิดปกติของลูก

พ่อแม่มือใหม่ที่ไม่เคยเลี้ยงเด็กเล็กมาก่อน เมื่อลูกร้องไห้ งอแง ก็ไม่รู้สาเหตุว่าทำไมลูกถึงร้อง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 เดือน เป็นช่วงอายุที่ต้องการความเอาใจใส่จากพ่อแม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากร่างกายยังพัฒนาการไม่สมบูรณ์ ลองสังเกตอาการของลูกดู หากพบ 10 อาการผิดปกตินี้ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ด่วนค่ะ

1. ซึม ไม่ยอมกินนม

โดยปกติทารกแรกเกิดจะดูดนมประมาณ 1 – 2 ออนซ์ต่อครั้ง และใช้เวลากินนมไม่เกินครึ่งชั่วโมง จากนั้นจะหลับไปแล้วตื่นขึ้นมากินนมอีก แต่หากลูกซึม ไม่ยอมกินนม ร้องกวน ใช้เวลากินนมมากกว่าปกติ หรือดูดนมแล้วมีอาการหอบเหนื่อย นั่นหมายถึงการส่งสัญญาณความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

2. อาเจียน

กระเพาะของทารกมีขนาดที่เล็กมากและหูรูดกระเพาะก็ยังทำงานไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการสำรอกหรือแหวะนมอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นในปกติของทารก การทำให้ลูกเรอหลังกินนมจะช่วยให้ลูกไม่แหวะนมได้ แต่หากลูกอาเจียนพุ่งทุกครั้งที่กินนมคุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์นะคะ เพราะอาจเกิดความผิดปกติจากทางเดินอาหาร หรือเกิดการติดเชื้อขึ้นได้

3. ท้องอืด

การที่ลูกน้อยร้องไห้ งอแง หรือกลืนลมเข้าไปมากขณะกินนมก็จะทำให้ท้องอืดได้ วิธีแก้คือ ให้จับลูกเรอด้วยท่านั่งหรืออุ้มพาดบ่าหลังจากให้นมเสร็จ หรือให้ลูกนอนคว่ำก็จะช่วยลดภาวะท้องอืดได้ แต่หากลูกน้อยมีอาการท้องอืดร่วมกับมีไข้ หรืออาเจียนออกมาด้วย อาจเป็นไปได้ว่าลูกกำลังมีปัญหาในระบบการย่อยอาหารที่รุนแรง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ด่วน

4. ท้องเสีย

ท้องเสีย

ภาพจาก https://happymom.in.th/

โดยปกติทารกที่กินนมแม่จะถ่ายวันละ 4 – 5 ครั้ง แต่หากลูกถ่ายบ่อยมากกว่า 1 ครั้งหลังจากกินนมแต่ละรอบ มีอุจจาระเหลวปนน้ำ หรือมีมูกเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง หรืออุจจาระมีกลิ่นแรงกว่าปกติ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน แต่หากเลี้ยงด้วยนมผงต้องเตรียมนมด้วยอุปกรณ์ที่สะอาด เพราะหากลูกท้องเสียมากจนเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จะทำให้ลูกช็อกและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

5. ตัวเหลืองผิดปกติ

อาการตัวเหลืองพบได้ในเด็กแรกเกิดในสัปดาห์แรก หลังจากอายุได้ 3 – 5 วันก็จะค่อยๆเหลืองน้อยลงจนหายไปเอง ซึ่งอาการตัวเหลืองนี้เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงและเหลืองจากการทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์ จึงกำจัดสารเหลืองได้ช้า แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกตัวเหลือง สีผิวคล้ายขมิ้นมากขึ้นหรือมีผิวเหลืองนานเกินกว่า 14 วัน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ ควรพาไปพบแพทย์ทันที หากปล่อยทิ้งไว้นานลูกจะมีอาการผิดปกติ ชักเกร็ง และมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กปกติทั่วไป

6. มีไข้

อุณหภูมิปกติสำหรับเด็กทารกอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส และไม่มากหรือต่ำกว่า 0.5 องศาเซลเซียส หากลูกตัวร้อนวัดไข้ได้ 37.5 องศาเซลเซียส แสดงว่าลูกมีไข้แล้ว ควรเช็ดตัวให้ลูกเพื่อลดไข้ แต่ถ้าวัดได้อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้สูง ควรพามาพบแพทย์ทันที สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน ไม่ควรจะให้ยากินเองเด็ดขาด สำหรับการป้องกันไม่ให้ลูกมีไข้ในช่วง 3 เดือนแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพาลูกน้อยไปอยู่ที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือที่ผู้คนพลุกพล่าน

7. ปากเป็นฝ้าขาว

ฝ้าขาวในช่องปากเกิดจากคราบน้ำนม ป้องกันได้โดยใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกทำความสะอาดเช็ดออกให้หมด หากเช็ดออกไม่หมดจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้ หรือหากบริเวณเพดานปากและกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง มีคราบขาวจากเชื้อราเยอะและหนามาก ลูกจะมีอาการงอแง กินนมได้น้อย และน้ำหนักลด ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

8. ชัก

ลูกชัก

ภาพจาก https://www.sanook.com/

อาการชักเกิดขึ้นได้ง่ายมากจากเด็กที่เป็นไข้สูงหรือจากสาเหตุอื่นๆ จะมีลักษณะชักแบบเกร็งหรือกระตุกทั้งตัว เป็นทั้งข้างซ้ายและขวาเท่าๆกัน ไม่เกิน 15 นาที ส่วนใหญ่จะหยุดได้เองภายใน 3 – 5 นาที หลังจากชักลูกจะรู้สึกตัวดี แต่ถ้ามีอาการชักนานกว่า 5 นาที หรือรอบปากมีรอยเขียวคล้ำควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที และระหว่างทางที่พาลูกไปพบแพทย์ ให้จับลูกนอนตะแคง หัวต่ำเพื่อป้องกันการสำลัก จากนั้นหาผ้านิ่มม้วนแน่นๆสอดที่มุมปากเพื่อป้องกันลูกกัดลิ้นตัวเอง แต่ห้ามใช้นิ้วหรือวัสดุใดๆ เช่น ช้อน ไปงัดหรือล้วงปากลูกโดยเด็ดขาด

9. ตาอักเสบ

คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตพบว่าหลังจากที่ลูกออกจากโรงพยาบาลแล้วจะมีขี้ตาอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน แก้ไขได้โดยนวดหัวตาเบาๆ แต่หากลูกมีน้ำตา ตาแฉะ ขี้ตามีสีเหลืองหรือสีเขียว แสดงว่าตามีการอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะซื้อยามาหยอดตาเอง แต่ควรจะลูกไปพบแพทย์จะดีกว่า

10. สะดือมีกลิ่นเหม็น มีหนอง หรือเลือดออก

ปกติแล้วสะดือจะแห้งและหลุดลอกออกเองภายใน 5 – 10 วัน และทุกครั้งที่อาบน้ำ ถ่ายปัสสาวะ อุจจาระควรทำความสะอาดสะดือด้วยทุกครั้ง และไม่ควรใช้แป้งโรยบริเวณสะดือเด็ดขาด หากพบว่าสะดือของลูกมีกลิ่นเหม็น มีหนอง หรือเลือดออก เกิดการอักเสบ และสังเกตเห็นว่าสะดือลูกบวมแดง ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว