แม่และเด็ก

ลูกดื้อมาก ทำยังไงดี?

คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงมีปัญหากับการที่ลูกดื้อมาก จนไม่รู้จะทำยังไงดี โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยอายุระหว่าง 2 – 5 ขวบ ลูกร้องไห้ งอแง เอาแต่ใจ ไม่เชื่อฟังใคร เรียกร้องความสนใจตลอดเวลา จนรู้สึกเหนื่อยกับพฤติกรรมของลูก พาลทำให้ไม่มีความสุขในการเลี้ยงลูก แต่คุณพ่อคุณแม่คิดหรอว่าลูกไม่เหนื่อยกับการที่ต้องร้องไห้ตลอดเวลา และเรียกร้องความสนใจแบบนี้? หากลูกร้องไห้ไม่มีเหตุผล เอาแต่ใจ ดื้อมากในความคิดของคุณพ่อคุณแม่ จนทำให้เหนื่อย ไม่มีความสุขกันทั้งพ่อ แม่ ลูก งั้นเรามาปรับวิธีคิดและเลี้ยงดูกันดีกว่ามั๊ย? 

โดยทั่วไปตามธรรมชาติเด็กวัยนี้จะยังพูดสื่อสารได้ไม่ดีนัก เด็กจะชอบสำรวจ เลียนแบบผู้ใหญ่ ยิ่งห้ามก็เหมือนบอกให้ทำ บอกให้หยุดก็ยังจะทำ จนดูเหมือนเด็กดื้อ นอกจากนี้ยังคิดว่าทุกอย่างเป็นของตัวเอง หวงของเล่น ไม่รู้จักแบ่งปันสิ่งของ อารมณ์แปรปรวนง่าย อะไรไม่ได้ดั่งใจหรือโดนขัดใจก็พร้อมที่จะร้องไห้ตลอดเวลา ที่เป็นเช่นนี้นั่นก็เพราะมันเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเด็ก และการที่ลูกดื้อมันไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไรเลย มันคือบททดสอบที่แสดงถึงการเติบโตทางจิตใจว่าลูกกำลังคิดได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผลและตัดสินใจเลือกเองได้ต่างหาก คนเป็นพ่อแม่ก็ต้องเข้าใจพัฒนาการตรงนี้ และเตรียมรับมือกับพฤติกรรมของลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อพ่อแม่รู้และเข้าใจธรรมชาติของเด็กตรงนี้แล้ว ก็ทำให้ปัญหาที่คิดว่าลูกดื้อกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยขึ้นมาได้ ทีนี้เราลองมาดูสาเหตุและวิธีการรับมือพฤติกรรมของลูกกันดีกว่า

สาเหตุที่ลูกดื้อ

สาเหตุที่ลูกดื้อ

1. เป็นพัฒนาการตามวัย

อย่างที่บอกว่าการที่ลูกดื้อเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง โดยจะเห็นชัดมากในช่วงที่ลูกอายุ 2 ขวบ เขาจะเป็นตัวเองมากขึ้น ต้องการอิสระ ไม่ชอบการบังคับ ขู่เข็ญ ฉะนั้นพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงควรเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยนี้และไม่คาดหวังกับลูกมากเกินไป ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่ดื้อตามความคิดของคนเป็นพ่อแม่ หากลูกใครนิ่ง เรียบร้อย บอกซ้ายไปซ้าย บอกขวาไปขวา ไม่ร้องไห้งอแง คงต้องรีบพาลูกไปหาหมอพัฒนาการด่วนแล้วล่ะ เพราะพัฒนาการของลูกกำลังมีปัญหาอยู่แน่ๆ 

2. พื้นฐานทางอารมณ์

เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์แตกต่างกัน บางคนเรียบร้อย บางคนก็อยู่ไม่นิ่ง ชอบสำรวจ ซุกซน หากพ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องเป็นเด็กเรียบร้อย แต่ลูกกลับซุกซน อยู่ไม่นิ่ง พ่อแม่ก็คิดว่าลูกดื้อและหงุดหงิดกับพฤติกรรมของลูก จนเกิดปัญหาการเลี้ยงดูตามมา พื้นฐานทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามเข้าใจอารมณ์ของลูกด้วย และปรับทัศนคติของตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความสุขในการเลี้ยงลูก

3. ปัญหาทางจิตใจ 

เด็กบางคนก็ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ตั้งแต่เกิด โดนปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ จนกลายเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบแย่งของเล่นคนอื่น หรือทำร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กแบบนี้ต้องโดนปรับพฤติกรรม และจำเป็นต้องให้ความรักและการเลี้ยงดูที่ถูกวิธีด้วย 

4. สิ่งแวดล้อม

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นหรือส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เช่น เด็กถูกเลี้ยงในสถานที่แออัด มีเด็กหลายคน ของเล่นก็มีน้อย จนไม่เพียงพอที่จะเล่นให้ครบทุกคน จึงเกิดการแย่งของเล่นกัน ทำให้เด็กมีโอกาสทะเลาะกันเพราะแย่งของเล่นกันบ่อยๆ จนทำให้เด็กถูกมองว่ามีพฤติกรรมก้าวร้าว

วิธีการรับมือพฤติกรรมของลูก 

วิธีการรับมือพฤติกรรมของลูก 

1. เบี่ยงเบนความสนใจ 

วิธีนี้ได้ผลดีกับเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กยังมีความสนใจที่สั้น จึงสามารถใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจอย่างอื่นแทนได้ เช่น เด็กกำลังร้องไห้เพราะโดนขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ก็เบี่ยงเบนให้เด็กดูนั่น ดูนี่แทน หรือไปเล่นอย่างอื่นแทน ก็ทำให้เด็กสงบลงได้

2. ตักเตือน

บอกลูกไปตรงๆเลยว่าทำแบบนี้ไม่ดี และมันจะส่งผลอย่างไร โดยอธิบายให้ลูกเข้าใจง่ายและชัดเจนที่สุด

3. ปรับสิ่งแวดล้อม 

เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายให้กับลูก และพ่อแม่จะได้ไม่เหนื่อยกับคำที่พูดว่า “อย่าทำ, ทำไม่ได้, หยุดเลย” ดังนั้นควรปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านโดยการเก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายออกห่างจากลูกให้หมด เช่น ปลั๊กไฟ, เครื่องแก้ว, ของมีคม, ยา, สารเคมี เป็นต้น เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยสำรวจ เห็นอะไรแปลกๆก็อยากจะจับเข้าปาก พ่อแม่ก็จะได้ไม่เหนื่อยที่ต้องมาห้ามลูก และลูกก็จะได้สำรวจโลกและเรียนรู้อย่างเต็มที่ด้วย

4. จัดกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอ 

เช่น การจัดตารางกิน, ตารางนอนให้เป็นเวลาขึ้น เด็กจะได้ปรับตัวได้ง่าย และพ่อแม่จะได้ไม่เหนื่อยมากจนเกินไปด้วย

5. ไม่สนใจ หรือเพิกเฉย 

วิธีนี้ให้ใช้ตอนที่ต้องการหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ โดยที่พฤติกรรมนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและผู้อื่น เช่น เมื่อลูกร้องไห้อาวะลาดอยู่ที่พื้นเพราะโดนขัดใจ พ่อแม่ไม่ควรตามใจลูก ให้ลูกร้องไห้ไป พ่อแม่ก็ทำเป็นเพิกเฉยไปซะ แต่ให้อยู่ในสายตาว่าลูกปลอดภัยดี แล้วลูกจะหยุดร้องไห้ไปเอง พอลูกหยุดร้องค่อยเข้าไปหาลูก กอดลูก และคุยถึงปัญหาและหาทางออกที่ดีร่วมกัน

6. ให้ลูกได้รับผลตามธรรมชาติ 

การให้ลูกได้รับผลตามธรรมชาติและและให้รับผิดชอบผลของการกระทำจะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้เพื่อปรับพฤติกรรมของตัวเอง เช่น ถึงเวลากินข้าว แล้วลูกไม่ยอมกินข้าว พ่อแม่ก็เก็บไปเลย ให้ลูกรู้จักหิว ลูกจะได้ยอมกินข้าวในมื้อถัดไป แต่พฤติกรรมบางอย่างของลูกก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น เช่น ลูกปีนป่ายที่สูง ซึ่งเสี่ยงต่อการตกลงมาแล้วหัวแตก หรือแขนขาหักได้ พ่อแม่ก็ควรจะห้ามปรามทันที

7. การให้แรงเสริมทางบวก 

เป็นการให้ความชมเชยผ่านคำพูดและการกระทำ เช่น การโอบกอด ลูบหัวลูก เป็นต้น เวลาชมลูกก็ให้ชมด้วยความจริงใจและเจาะจงกับพฤติกรรมที่ลูกทำด้วย ลูกจะได้รู้ว่าพ่อแม่ให้ความสนใจกับเรื่องไหน ลูกก็จะได้เรียนรู้และพยายามทำพฤติกรรมนั้นต่อไป แต่ให้ระวังการพูดเสียดสี หรือเปรียบเทียบเด็กกับผู้อื่น ขณะที่ชมเด็กด้วย

8. เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก

เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ชอบเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่ ถึงแม้ลูกจะยังไม่เข้าใจในการกระทำของผู้ใหญ่ แต่ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ และซึมซับว่าการที่ผู้ใหญ่ทำพฤติกรรมดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่สมควรทำตามและเป็นที่ยอมรับ

9. ลงโทษ 

วิธีนี้ไม่ควรใช้บ่อย เพราะจะทำให้เสียความสัมพันธ์ต่อพ่อแม่ลูกได้ ควรจะใช้ตอนที่ลูกแสดงพฤติกรรมรุนแรงจะดีกว่า หรือใช้ตอนที่ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล การลงโทษอย่างรุนแรงบ่อยๆโดยไม่มีเหตุผล นอกจากจะไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพและจิตใจของเด็กด้วย การลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นการดุว่า ตำหนิ หรือการตีเสมอไป อาจใช้วิธีอื่นๆ แทนได้ เช่น การกักบริเวณ, การหักเงิน หรือการห้ามบางอย่าง เป็นต้น

การเรียนรู้ และพยายามเข้าใจกับพฤติกรรมในแต่ละช่วงวัยของเด็ก จะทำให้พ่อแม่เลี้ยงลูกได้แบบเข้าใจ และมีความสุขในการเลี้ยงลูกมากขึ้น เมื่อพ่อแม่มีความสุข ลูกก็มีความสุข ลูกจะได้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพได้ไม่ยากเมื่อมีพ่อแม่ให้ความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจให้กับเขา