พฤติกรรมบ่อยๆที่เราเห็นในเด็กก็คือ การดูดนิ้วตัวเอง ซึ่งพฤติกรรมนี้หากเป็นเด็กเล็กมากๆหรือวัยที่ยังไม่รู้ประสีประสาอะไรถือเป็นเรื่องปกติ เด็กๆดูดนิ้วเพราะความเบื่อ ทำให้ตัวเองสบายใจ และเป็นการปลอบตัวเอง แต่หากเจอในเด็กโต อายุประมาณ 3 – 4 ขวบขึ้นไป การดูดนิ้วทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เสี่ยงป่วยได้, ทำให้ฟันไม่เรียงกันตามธรรมชาติ, เล็บเกิดเชื้อราเนื่องจากโดนความชื้นจากน้ำลาย และทำให้เสียบุคลิกภาพ ดังนั้นหากลูกของคุณพ่อคุณแม่ยังติดดูดนิ้วอยู่ในวัยที่เข้าเรียนอนุบาลแล้ว ต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ด้วย 7 วิธีนี้
1. อย่าดุลูกเมื่อลูกดูดนิ้ว
ภาพจาก www.samitivejhospitals.com
เมื่อเห็นลูกดูดนิ้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งดุลูกทันที เพราะจะทำให้ลูกยิ่งต่อต้าน และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงควรเลิกทำ คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนจากการดุลูกเป็นการชมจะดีกว่าเมื่อลูกเว้นการดูดนิ้วนานๆ เขาจะได้เข้าใจว่าถ้าไม่ดูดนิ้วจะได้รับคำชมและเป็นเรื่องดีที่ควรทำ
2. ทำความเข้าใจกับลูกเรื่องการดูดนิ้ว
ทำความเข้าใจกับลูกเรื่องการดูดนิ้วโดยการบอกกับลูกว่า “ถ้าพร้อมเลิกดูดนิ้วเมื่อไหร่ ให้บอกแม่ แม่จะคอยช่วย” คำพูดนี้ทำให้ลูกตัดสินใจได้เองว่าอยากเลิกดูดนิ้วเมื่อไหร่ โดยสังเกตจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจด้วย และเมื่อเขาพร้อม เขาจะเดินมาบอกคุณพ่อคุณแม่เองว่าอยากเลิกดูดนิ้วแล้ว และเมื่อเลิกดูดนิ้วได้จริงๆควรชื่นชมลูกด้วย เขาจะได้รู้สึกภูมิใจในตัวเอง
3. พาลูกดูสื่อเกี่ยวกับการเลิกดูดนิ้ว
อาจจะเป็นการอ่านนิทาน หรือดูการ์ตูน ที่มีตัวเอกชอบดูดนิ้ว แล้วเลิกดูดนิ้วไป เพื่อให้ลูกเห็นว่าการเลิกดูดนิ้วส่งผลดีต่อตัวเองอย่างไร ลูกจะได้รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวละครเอกของเรื่อง และมีความพยายามที่จะเลิกดูดนิ้ว
4. สังเกตว่าลูกชอบดูดนิ้วตอนไหน
ภาพจาก baby.kapook.com
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมลูกด้วยว่าลูกชอบดูดนิ้วตอนไหน หากชอบดูดนิ้วก่อนนอน ลองหาวิธีอื่นให้เขาผ่อนคลาย เช่น ให้ลูกดื่มนมก่อนนอน หรือเวลาที่ลูกชอบดูดนิ้วตอนโกรธหรือไม่สบายใจ ลองคุยกับลูกเพื่อหาทางเข้าใจกัน และหาวิธีฝึกสมาธิ ควบคุมอารมณ์อื่น ๆ มาลองสอนเขาดู
5. เล่นบทบาทสมมติกับลูก
เล่นบทบาทสมมติกับลูกโดยการนำตุ๊กตาตัวโปรดของลูกมาเล่นกับลูก เช่น น้องหมีต้องการเลิกดูดนิ้ว ลูกจะช่วยน้องหมีเลิกดูดนิ้วได้ไหม น้องหมีต้องการเพื่อนเลิกดูดนิ้วด้วยกัน ลูกทำได้ไหม เป็นต้น การเล่นแบบนี้เป็นการฝึกให้ลูกคิด และให้เขาทำตามอย่างเต็มใจ
6. ห้ามใช้วิธีรุนแรงในการเลิกดูดนิ้วกับลูก
คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้เลิกดูดนิ้ว ถึงแม้จะทำวิธีไหนก็ตามแล้วแต่ลูกยังไม่เลิกดูดนิ้วสักที ห้ามใช้วิธีรุนแรงในการให้ลูกเลิกดูดนิ้วเด็ดขาด เช่น แต้มอาหารรสจัดบนนิ้วลูก เป็นต้น เพราะการทำแบบนี้ทำให้ลูกเกิดปมในใจได้ว่าพ่อแม่ของเขาใจร้าย นอกจากส่งผลด้านจิตใจลูกแล้วยังส่งผลต่อร่างกายลูกด้วย
7. พาลูกไปพบหมอฟัน
ลูกอาจเชื่อฟังคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ ดังนั้นลองพาลูกไปพบหมอฟันดู แล้วให้หมอบอกว่าการดูดนิ้วไม่ดีต่อฟันยังไง หากอยากมีฟันสวยต้องดูแลฟันยังไง หมอฟันจะมีวิธีเกลี้ยกล่อมเด็กที่ดี และทำให้เด็กรู้สึกอยากเลิกดูดนิ้วขึ้นมาได้